วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ฝายแม้ว คือ สิ่งก่อสร้างขวางหรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอ การไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
รูปแบบและลักษณะฝายนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้  ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ ”

“.......สำหรับต้นน้ำไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตามสำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก......”
นอกจากนี้ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึง ฝายต้นน้ำลำธาร ในรายการ "นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" ทางคลื่น F.M. 92.5 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม         2547 เวลา 08.00 น. ดังนี้

",,,
ฝายแม้ว หรือ เช็คแดม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริตามแบบที่ได้ทรงทำที่ห้วย ฮ่องไคร้ที่เชียงใหม่ ผมก็เลยมอบนโยบายตามแนวพระราชดำรินี้ไปให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลายว่า เพื่อให้ภูเขาต่างๆ ได้เขียว เพราะไม่งั้นความแห้งแล้งจะได้เกิดขึ้นตลอด เขาก็ไปทำฝายแม้วที่หนองบัวลำภู   ซึ่งผมไปดูมา เขานั้นแห้งแล้งมาก แต่ปรากฏว่าพอฝนเริ่มตกมาก็มีน้ำ ฝายแม้วทั้งหลายก็กักเก็บน้ำได้นิดหน่อยๆ เพื่อให้เกิดความชื้นของภูเขา เพราะเขาลูกหนึ่งมีตั้งพันกว่าเขื่อน ส.ส.มาบอกผมว่าไปตรวจอีกครั้งหนึ่งตอนนี้เริ่มมีลูกอ๊อดแล้ว เต็มไปหมด ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมันมีของมันอยู่ เมื่อมีความชุ่มชื้น ธรรมชาติกลับคืนมานี่ สิ่งที่มันเป็นสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ มันก็จะเริ่มฟื้นคืนขึ้นมา    และมันเป็นวิถีชีวิต มันเป็นของที่ควบคู่กับชาวบ้าน ผมก็ดีใจว่า สิ่งเหล่านี้ได้ผลรวดเร็วมาก ทุกจังหวัดก็ได้ทำกัน ทีนี้ป่ามันก็จะคืนสภาพได้ต่อมา เหมือนที่ห้วยฮ่องไคร้ซึ่งป่าถูกทำลายทั้งเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำตามที่ผมเล่าให้ฟังนี่ ก็ปรากฏว่าป่าก็คืนสภาพ ไก่ป่า    ไก่อะไรก็เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นอันนี้เราจะต้องฟื้นคืนสภาพ,,,,"
โครงการห้วยองคต
พระราชดำริ
"ให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่ไปกับการพัฒนา และฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกทั้ง โดยเน้น การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่"
ความเป็นมา
โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บนเนื้อที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จำนวน ๒๐,๖๒๕ ไร่ ตำบลสมเด็จเจริญ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่ไปกับ การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยทรงเน้น การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำมาหากินร่วมกับการคงอยู่ ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้สนับสนุน โครงการ รวมทั้งส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ฯลฯ จะใช้พื้นที่ป่าสงวนซึ่งถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม มาดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรผู้ยากจนเข้าไปประกอบอาชีพ ซึ่งได้จัดเป็นแปลงที่ดินให้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยครอบครัวละ ๑ ไร่ ที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ ๘ ไร่
วัตถุประสงค์
๑. ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยการปลูกป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ตามเดิม
๒. บริหารทรัพยากรอย่างเหมาะสม โดยการแบ่งแยกพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนทั้งในด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพป่า การจัดสรรที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ส่วนกลางในการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น ต่าง ๆ
๓. จัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมทั้งจัดระเบียบชุมชนให้ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัย ในพื้นที่ที่จัดสรรให้อย่างเหมาะสม
๔. ส่งเสริม พัฒนาอาชีพให้มีรายได้ และสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารทรัพยากร อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม
การดำเนินงานในส่วนสหกรณ์
ในปี ๒๕๓๕ โครงการได้ดำเนินการจัดให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ตามแปลงที่อยู่อาศัย จำนวน ๑๐๐ ครอบครัว ต่อมาปี ๒๕๓๖ จัดให้ราษฎรเข้าอยู่ในแปลง จำนวน ๑๕๐ ครอบครัว และปี ๒๕๓๗ จัดให้ราษฎรเข้าอยู่ในแปลง จำนวน ๒๐๐ ครอบครัว เกษตรกรที่จะเข้าอยู่ในโครงการจะต้องได้รับการอบรมตามหลักสูตรของ โครงการ ซึ่งแบ่งการอบรมเป็นรุ่น ๆ โดยรุ่นแรกเริ่มอบรมในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด กาญจนบุรีได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์อำเภอบ่อพลอย ซึ่งเดิมไม่ได้แยกเป็นกิ่งอำเภอหนองปรือ ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปร่วมอบรมราษฎรที่จะเข้าไปอยู่ในโครงการ จำนวน ๓๐๐ คน รวม ๓ รุ่น เพื่อให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ สหกรณ์
ในปี ๒๕๓๖ ทางราชการได้จัดตั้งกิ่งอำเภอหนองปรือ ซึ่งแยกจากอำเภอบ่อพลอย ราษฎรที่เข้าอยู่ใน โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร สมเด็จเจริญ จำกัด ขึ้น โดยมีผู้แสดงความจำนงขอจัดตั้งสหกรณ์จำนวน ๖๒ คน ทุนเรือนหุ้น ๒,๘๐๐ บาท นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนให้สหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ และเห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้วงเงิน กู้ยืมหรือค้ำประกันได้ภายในจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรสมเด็จเจริญ จำกัด ได้กำหนดปีทางบัญชีสิ้นสุด ๓๐ มิถุนายน ของทุกปี ในปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ สหกรณ์ได้ดำเนินงานโดยใช้ทุนจากทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ จำนวน ๑๑,๗๙๓ บาท และสินเชื่อทางการค้า สหกรณ์ได้ดำเนินงานโดยจัดหา สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๗๕๖ บาท สิ้นปีสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ๑,๔๙๓.๖๕ บาท และในปี ๒๕๓๘ มีกำไรสุทธิ ๒๗๔.๙๓ บาท ส่วนปี ๒๕๓๙ อยู่ระหว่างการปิดบัญชี
สหกรณ์ไม่มีพนักงานและใช้บ้านสมาชิกเป็นสำนักงานชั่วคราว ในปัจจุบันมูลนิธิพัฒนาชนบท (บริษัทซีพี) ได้เข้าดำเนินงานในโครงการซึ่งจะช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และสหกรณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
แผนการแนะนำส่งเสริมในปีงบประมาณ ๒๕๔๐
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๙ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดกรอบอัตรากำลัง ให้สำนักงานสหกรณ์ กิ่งอำเภอหนองปรือ จำนวน ๒ อัตรา คือ สหกรณ์อำเภอ ระดับ ๖ กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ระดับ ๓ ซึ่งมีแผนในการแนะนำส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรสมเด็จเจริญ จำกัด ในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ ดังนี้
๑. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์แก่เกษตรกรในเขตโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้มีความรู้ความเข้าใจและสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์โดยดำเนินการ ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๓๙ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๐ คาดว่าจะรับสมาชิกเพิ่มได้ ๒๐๐ คน
๒. จัดประชุมใหญ่สามัญเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ดำเนินการเดือนมกราคม ๒๕๔๐
๓. จัดอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการดำเนินการ ประธานกลุ่มและเลขานุการกลุ่มดำเนินการเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
โครงการแก้มลิง
 
"โครงการแก้มลิง" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ โดยประกอบด้วยโครงการขุดลอกคลองระบายน้ำและกำจัดวัชพืช โครงการปรับปรุงและก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ ตามที่ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมหนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ อันสืบเนื่องมาจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำตอนบน ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลหลากท่วมพื้นที่อย่างรุนแรงในลุ่มแม่น้ำยมและน่าน เสริมกับปริมาณน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ไปหลากท่วมพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำอย่างหนักและส่งผลกระทบต่สภาวะน้ำท่วม  ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งรวมถึงเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน คืนวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยทรงเปรียบเทียบการกินอาหารของลิง หลังจากที่ลิงเคี้ยวกล้วยแล้วจะยังไม่กลืน แต่จะเก็บไว้ภายในแก้มทั้งสองข้าง แล้วค่อย ๆ ดุนกล้วยมากินในภายหลัง เช่นเดียวกับกรณีการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งน้ำที่ขึ้นมาตามซอยต่าง ๆ เมื่อน้ำทะเลหนุน ให้ไปเก็บไว้ที่บึงใหญ่ที่อยู่ใกล้กับ    พื้นที่ชายทะเล และมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับปิดกั้นน้ำบริเวณแก้มลิง สำหรับฝั่งตะวันตกจะอยู่ที่คลองชายทะเล ด้านฝั่งตะวันออกบริเวณแก้มลิงจะอยู่ที่คลองสรรพสามิต เมื่อเวลาน้ำทะเลลดลงให้เปิดประตูระบายน้ำออกไป บึงจะสามารถรับน้ำชุดใหม่ต่อไป
สำหรับแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือ
ประการแรก    สร้างคันกั้นน้ำโดยปรับปรุงแนวถนนเดิม
ประการที่ ๒   จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริเพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ เมื่อมีน้ำหลาก
ประการที่ ๓    ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิมและขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ
ประการที่ ๔    สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ
ประการที่ ๕    ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง กรมทางหลวงได้ดำเนินการตาม "โครงการพระราชดำริแก้มลิง" โดยใช้แนวถนนสุขุมวิทเป็นคันกั้นน้ำทะเลที่หนุนท่วมขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล และใช้พื้นที่ด้านในของถนนสุขุมวิท  เป็นพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบน พร้อมทั้งประสานงานกับกรมชลประทานและกรมโยธาธิการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ เลียบถนนสุขุมวิทตามแนวคลองชายทะเล โดยมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำตามคลองต่าง ๆ คือ คลองตำหรุ คลองบางปลาร้า คลองบางปลา คลองเจริญราษฎร์ คลองด่าน คลองชลหารพิจิตร รวมปริมาณน้ำที่สามารถสูบออกทะเล ๒๖๗ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตามคลองต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านบนสามารถไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ  "แก้มลิง" มีลักษณะและวิธีการดังนี้
๑. ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล
๒. เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าว โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก           (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ
๓. สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อทำให้น้ำตอนบนค่อย ๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง
๔. เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง ให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)
หลักการ ๓ ประการ ที่จะทำให้โครงการแก้งลิงมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริ คือ การพิจารณา
๑. สถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพักและวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสู่บ่อพักน้ำ
๒. เส้นทางน้ำไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ
๓. การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
"โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ใช้คลองชายทะเลตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ ส่วน "โครงการแก้มลิง ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา" ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อระบายออกทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง" ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ       
โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่างจะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ ๓ โครงการด้วยกัน คือ
๑. โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง
๒. โครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
๓. โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"
                โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตหมายที่จะนำพาชาวไทยให้รอดพ้นจากทุกข์ภัย ที่นำความเดือนร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิต     ที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า "...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ต้อนรับเพื่อนๆ...เปิดเทอมใหม่...1/2554

"ทักทายๆๆๆ...และก็...สวัสดีทุกคน...นะจ๊ะ"
ขอต้อนรับเข้าสู่เว็บใหม่ของเรานะ
มีความสุขที่ได้อยู่ในเว็บของเรา...>o< ~ 

จาก...chaaim